ปฏิวัติ สิงคโปร์ ด้วยเทคโนโลยีการเกษตร เนรมิตนิคมเกษตร-อาหาร เลี้ยงคนทั้งเกาะ ลดการนำเข้าอาหาร

ปฏิวัติ สิงคโปร์ ด้วยเทคโนโลยีการเกษตร เนรมิตนิคมเกษตร-อาหาร เลี้ยงคนทั้งเกาะ ลดการนำเข้าอาหาร
แต่ไหนแต่ไรมา ‘สิงคโปร์’ ได้ชื่อว่าพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมาตลอด เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่อนข้างน้อย โดยว่ากันว่า พึ่งพาการนำเข้าอาหารสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่บริโภคทั้งหมด ทว่าล่าสุด สิงคโปร์กลับมีความโดดเด่นเรื่องการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ร่วมกับทรัพยากรบุคคลคุณภาพของประเทศ โดยลุกขึ้นมาประกาศยุทธศาสตร์ ปฏิวัติ ‘สิงคโปร์’ สร้างนิคมเกษตร-อาหาร เพื่อให้สิงคโปร์ลดการนำเข้าอาหารและพึ่งพาตนเองได้
จากประเด็นเรื่อง ความมั่นคงทางอาหาร ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและพยายามที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น สิงคโปร์ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่รับโจทย์อันท้าทายนี้ไปบริหารจัดการ ท่ามกลางภัยคุมคามจากรอบด้าน ทั้ง เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และความกดดันจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่พยายามจะออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับสิงคโปร์ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ในยุคที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียมาเป็นสาธารณรัฐอิสระเมื่อ ปี ค.ศ. 1965 แล้ว
ปฐมบท ‘ปฏิวัติสิงคโปร์’ จะลดการนำเข้าได้จริง ต้องสร้างนิคมนวัตกรรมเกษตร-อาหาร อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดตัวโครงการอาหารใหม่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเปิด “นิคมนวัตกรรมเกษตร-อาหาร” ขนาด 112.5 ไร่ ซึ่งในนิคมนี้จะใช้กระบวนการทำเกษตรแบบไฮเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา และยังทำฟาร์มเพาะแมลง สอดคล้องกับเทรนด์ ‘แมลง’ อาหารที่เป็นอนาคตโลก ซึ่งมีเอกสารจากองค์กรด้านอาหารระดับโลกยืนยันว่า

ในภารกิจเปิดนิคมนวัตกรรมเกษตร-อาหาร โก๊ะ โปห์ คุน รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐว่าด้วยการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กล่าวในโอกาสนี้ว่า

“ตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับบรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเฟสแรกของนิคมแห่งนี้ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะขยายไปอีกในอนาคตด้วย”

นอกจากนั้น สิงคโปร์ ก็กำลังหาทางพัฒนาภาคอุตสาหกรรมใหม่ในด้านเทคโนโลยีเกษตรกรรมโดยใช้บุคลากรท้องถิ่นที่มีความสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มที่บริษัทการลงทุนของหน่วยงานรัฐบาล “ซีดส์ แคปิตัล” สำนักงานวิสาหกิจสิงคโปร์ (อีเอสจี) โดยแต่งตั้งพันธมิตรร่วมทุน 7 ราย เพื่ออัดฉีดเงินกว่า 90 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ให้เหล่าสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกษตร-อาหารที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ได้เดินหน้าคิดค้น สร้างผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมานำเสนอให้ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ได้

เจาะมาตรการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารด้วยการ ‘พึ่งตนเอง’
อย่างที่เกริ่นมาแล้วว่า สิงคโปร์ มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นของตัวเองน้อยมากจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างชาติในปริมาณมาก ซึ่งรวมถึงสัตว์มีชีวิต เป็นมูลค่าถึงราว 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และเฉพาะในปี 2561 สิงคโปร์สามารถผลิตอาหารเองได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นสาธารณรัฐที่มีขนาดเล็กและมีที่ดินทำกินสำหรับการผลิตอาหารอย่างจำกัด จึงต้องนำเข้าอาหารส่วนใหญ่จากมาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
เพื่อปิดช่องว่างการพึ่งพาการนำเข้าให้น้อยลงเรื่อยๆ สิงคโปร์วางยุทธศาสตร์ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตอาหารเองให้ได้ 3 เท่า ภายใน ปี 2573 โดยอาศัยพลังของบริษัทท้องถิ่นบางรายเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจครั้งนี้ อย่างการร่วมมือกับ “ซัสเทนนีร์ อะกริคัลเชอร์” บริษัททำเกษตรแนวดิ่งในสิงคโปร์ที่มีชื่อเสียงมาจากการปลูกสตรอว์เบอร์รีในห้องปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จ และจำหน่ายบนเว็บไซต์ “เรดมาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ของสิงคโปร์ได้ นอกจากนั้น บริษัทยังปลูกผักบางชนิดและนำไปจำหน่ายในท้องถิ่นอีกด้วย

พอล เต็ง กรรมการผู้จัดการและคณบดีวิทยาลัยครูในสิงคโปร์ แสดงความคิดเห็นในแง่ของการยืนยันว่าความพยายามในการปฏิวัติสิงคโปร์ ลดการนำเข้า พึ่งตนเอง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการทำฟาร์มแนวดิ่งในร่มที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของสิงคโปร์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดินแปลงใหญ่ การมีที่ดินและพื้นที่การเกษตรน้อยจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการส่งเสริมการเกษตร-อาหารของสิงคโปร์อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม พอล เต็ง ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการเพาะปลูก ย่อมมีส่วนทำให้การผลิตอาหารในสิงคโปร์มีต้นทุนสูงขึ้น ผักที่ผลิตในสิงคโปร์ตอนนี้ต้องตั้งราคาในระดับพรีเมียม เนื่องจากต้นทุนการผลิต 1 กิโลกรัม ยังคงสูงกว่าการนำเข้าผักชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้าน
0SHAREFacebookLINE it!

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

No comments yet
^